คอลัมน์ เปิดโลกธุรกิจต่างประเทศ ตอน SWIFT




        โดย ภัควัฒน์ แก้วชมพูนุช

   เดือนนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องที่ทิ้งท้ายต่อจากคราวที่แล้วนะครับ
นั่นคือเรี่อง “swift(สวิฟท์)ผมอยากเริ่มจากการออกเสียงให้ถูกต้องซะก่อน มีคำที่พ้องทั้งรูปและเสียงกับระบบสวิฟท์ นั่นก็คือรถยนต์ Suzuki รุ่น swift ที่ทุกท่านรู้จักกันอยู่แล้วหากสังเกตุจะเห็นว่าเขียนเหมือนกัน และ ขอบอกว่าออกเสียงเหมือนกันด้วยนะครับ ดังนั้น ณ จุดนี้หวังว่าทุกท่านจะออกเสียง สวิฟท์ ได้ถูกต้องกันแล้วนะครับ

          คราวนี้เรามาดูกันว่าไอ้เจ้าสวิฟท์เนี่ยคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร กันบ้าง  เรามาดูที่มากันก่อน

          S.W.I.F.T. ย่อมาจาก Society for World-Wide Interbank Financial Telecommunication มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Brussels ประเทศ Belgium ให้บริการในการรับ ส่ง ข้อความระหว่างธนาคาร สถาบันการเงิน และองค์กรต่างๆ ที่สมัครเป็นสมาชิกของ S.W.I.F.T. โดยมีรูปแบบการส่งข้อความที่เป็นมาตรฐาน และมีจุดเด่นในเรื่องของความรวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง

          ในการใช้งาน คำว่า  S.W.I.F.T. อาจเขียนในรูปของ SWIFT หรือ swift หรือ สวิฟท์  ก็ได้

               ในประเทศไทย มีการสมัครเป็นสมาชิกในระบบ S.W.I.F.T. ครั้งแรกเมื่อปี 2529 ปัจจุบัน ระบบ S.W.I.F.T. มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในการรับส่งข้อความระหว่างธนาคาร และสถาบันการเงิน เช่น การส่งคำสั่งโอนเงินให้กับลูกค้า การส่งคำสั่งการแจ้งเปิด Letter of Credit การส่งข้อความรายการเดินบัญชี (Statement Message) และการส่งข้อความแจ้งข่าวสารทั่วไป เป็นต้น

                 และเนื่องจากระบบ S.W.I.F.T. เป็นที่ยอมรับในเรื่องความรวดเร็ว และปลอดภัย หลายๆ ประเทศจึงได้ใช้ ระบบ S.W.I.F.T. เป็นช่องทางในการรับ ส่ง ข้อมูลที่เป็นธุรกรรมชำระเงินแบบทันที ( Real Time Gross Settlement: RTGS ) เช่น MEPS (MAS Electronic Payment System) ของประเทศสิงคโปร์ และ ระบบการโอนเงินมูลค่าสูงบาทเนต (BAHTNET : Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network) ของประเทศไทย เป็นต้น   



                 ในการใช้งานระบบ S.W.I.F.T. สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามกฎการเป็นสมาชิกของ S.W.I.F.T. ที่เรียกว่า By Law และการส่งข้อความในระบบ S.W.I.F.T. จะต้องมีมาตรฐานการส่งข้อความตามที่ S.W.I.F.T. กำหนด เช่นใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาหลักในการส่งข้อความเพื่อสื่อสารระหว่างกัน  ข้อความของ S.W.I.F.T. ที่ใช้รับ ส่ง ระหว่างสถาบันสมาชิก มีชื่อเรียกว่า MT ( Message Type ) และถือกำหนดเป็นมาตรฐาน ISO เช่น  ISO15022 เป็นต้น  เช่น MT103 ใช้สำหรับการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับซึ่งบริการโอนเงินต่างประเทศขาออก (Outward Remittance) ก็ใช้ MTนี้นะครับ นอกจากนั้นการโอนเงินบาทเน็ต ธปท.ก็ลอกรูปแบบของ MTนี้ชนิดฟิลด์ต่อฟิลด์ มาให้ธนาคารที่ไม่มีสวิฟท์ได้ใช้กันส่วนธนาคารที่มีสวิฟท์เขาก็ใช้สวิฟท์ส่งบาทเน็ตกัน ข้อดีคือไม่เคยมีเหตุการณ์ระบบล่มมาก่อน การติดต่อกับ S.W.I.F.T. สามารถทำผ่าน ผู้แทนของ S.W.I.F.T. ในแต่ละภูมิภาค หรือ ติดต่อผ่าน Web site ของ S.W.I.F.T. ที่ www.swift.com
                     พูดภาษาง่ายๆก็คือการใช้ระบบสวิฟท์นั้นก็คือการส่งหนังสือสั่งการเป็นภาษาอังกฤษไปถึงผู้รับปลายทางเพื่อให้ดำเนินการตามคำสั่งนั้นนั่นเองครับ



                     ในการเป็นสมาชิกของ S.W.I.F.T. แต่ละสถาบันจะได้รับรหัส หรือ Code ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เรียกว่า Bank Identifier Code (BIC) แต่บางคนจะเรียกว่า SWIFT Code (สวิฟท์โค๊ด) อันนี้ก็ไม่ว่ากันครับสื่อได้เหมือนกัน
หลักเกณฑ์มาตรฐานคือมีความยาว 8 ตัวซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรหรือตัวเลข

                 4 ตัวแรกคือชื่อย่อธนาคาร (ไม่ว่าชื่อสถาบันซึ่งส่วนใหญ่ก็คือธนาคารจะมีชื่อยาวเท่าไรก็ตามต้องย่นย่อหรือปรับให้ได้ 4 ตัว และห้ามซ้ำกับธนาคารอื่นๆด้วย) เช่น Krung Thai Bank ตัวย่อคือ KRTH

                 2 ตัวต่อมาคือชื่อประเทศย่อตามมาตรฐานสากล เช่น ประเทศไทย - TH ประเทศฝรั่งเศส - FR ประเทศสิงคโปร์ –SG ประเทศเกาหลี - KR ประเทศจีน - CN เป็นต้น

                  2 ตัวสุดท้ายคือสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการสวิฟท์ของธนาคารนั้นๆ
เช่น กรุงเทพ  - BK  ปารีส – PP สิงคโปร์ –SG โซล - SE  เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น
                    KRTHTHBK เป็นสวิฟท์โค๊ดของธนาคารกรุงไทย ที่ประเทศไทย มีศูนย์ฯอยู่ที่กรุงเทพ
                   BNABFRPP เป็นสวิฟท์โค๊ดของธนาคารบีเอ็นพี พาริบัส ที่ประเทศฝรั่งเศส มีศูนย์ฯอยู่ที่ปารีส
                   DBSSSGSG เป็นสวิฟท์โค๊ดของธนาคารดีบีเอส ที่ประเทศสิงคโปร์ มีศูนย์ฯอยู่ที่สิงคโปร์

                          ส่วนของธนาคารเองได้รับ swift code หรือ BIC เป็น “BAABTHBK” ครับ สาเหตุที่เราไม่ได้ BAAC เพราะธนาคาร BANCO ATLANTICO DE AHORRO Y CREDITO, S.A. ที่ประเทศโดมินิกันใช้ไปแล้วครับ swift code ของเขาคือ BAACDOS1 เราจึงต้องปรับเป็น “BAAB” โดย B ตัวสุดท้ายช่วยเน้นถึงความเป็นธนาคาร(Bank)อีกด้วยครับ



                           ถึงตรงนี้หวังว่าท่านผู้อ่านจะจำ swift code ของเรากันได้แล้วนะครับ ตามที่ได้เล่าถึงหลักเกณฑ์และความเป็นมา คราวนี้หากท่านมีโอกาสไปดูงานต่างประเทศ หรือมีชาวต่างประเทศมาดูงานกับท่านหากเขาต้องการสานสัมพันธ์ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจหรือเรื่องความร่วมมือต่างๆก็แจ้ง swift code เขาไปได้เลยนะครับ หรืออีกช่องทางหนึ่งเวลาทำนามบัตรท่านก็ใส่ swift code ไปเลยแต่หากไม่แน่ใจว่าจะใส่อย่างไรก็ติดต่อมาที่ ฝกธ. เราจะแนะนำให้ครับ

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุยเฟื่องเรื่องหลวงพ่อ การจัดสร้างพระพุทธเกษตร์รักษา โดย ท่านรองผู้จัดการอดุลย์ กาญจนวัฒน์

103 ปี ชาตกาล จ.ส.ตอน การช่วยเหลือสังคม (เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ)