เศรษฐกิจพอเพียง 89 โดย......นางเลิ้ง 312


                                                             
 สวัสดีครับ....พบกันอีกครั้งต่อจากฉบับที่แล้วที่ผมบอกว่าจะมาเล่าสู่กันฟังเรื่องกรณีตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรอินทรีย์และช่องทางวิถีการตลาดเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
กรณีตัวอย่างแรก คือ “แมน” หรือ ธนภัทร พันธ์สวัสดิ์ เด็กหนุ่มที่จบการศึกษาปริญญาตรีและกำลังเรียนปริญญาโทที่คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   แมน เล่าให้ฟังว่า “ผมเป็นเด็กเกษตรมาแต่กำเนิด เพราะปู่ย่าตายายเป็นเกษตรกร  ตายายมีสวนทุเรียน มังคุดที่นนทบุรี  ส่วนปู่ย่า เคยทำนาที่สุพรรณบุรี  ตอนเป็นเด็ก ผมอยู่บ้านเดียวกับตายาย  หลังบ้านเป็นสวนผลไม้นานาชนิด แต่เน้นที่ทุเรียน มังคุด มะไฟและมะปราง  สมัยนั้น น้ำในท้องร่องใสสะอาดมาก  ว่ายน้ำได้เลย... ที่สวนเมืองนนท์ของตาจะมีการขุดท้องร่องประจำปี  พวกเด็กต้องตื่นแต่เช้าเข้าไปช่วยงานในสวน  จนกระทั่งอายุ 8 ขวบก็เป็นกำลังหลักรองจากตายายในการเก็บมังคุดและทุเรียน....ทุกปีช่วงมกราคมถึงมีนาคม  ก่อนทุเรียนกับมังคุดจะออก  ต้นมะไฟจะออกลูกดกมากเหลืองอร่ามทั่วสวนเป็นพวงคล้ายองุ่น  เวลาเก็บต้องออกแต่เช้ามืด เพราะยายย้ำนักหนาว่า ห้ามเก็บมะไฟถ้าพระอาทิตย์โดนลูกเพราะจะทำให้เปลือกดำหรือคล้ำไม่สวย”
“มาถึงช่วงหนึ่งความเป็นสวนก็ค่อยๆหายไป  ลูกยายทุกคนรับราชการหมด  หลังจากตาเสียก็ไม่มีคนช่วยดูแล  ผมอยู่ชั้นมัธยม รู้สึกเลยว่า  สวนค่อยๆแห้งแล้งเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก  น้ำที่เคยลงไปอาบก็ใช้ไม่ได้แล้ว  ต้นไม้ที่ปลูกมานาน ก็ทยอยตายลง  ยายทำคนเดียวไม่ไหว  คนงานก็หายากเพราะไม่มีใครอยากทำสวนแล้ว  ก็ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าหรือขายกันไปหมด....ทำให้ผมคิดอยากจะทำอะไรก็ได้ที่จะให้สวนกลับมาเป็นเหมือนเดิม”
“ผมกลายเป็นเกษตรกรน้อยไปโดยไม่รู้ตัว  เริ่มจากการปลูกผักทุกอย่างที่ร้านค้าในตลาดจะมีเมล็ดพันธุ์ขายประกอบกับการเริ่มซ่อมต้นไม้ที่ตาย  คอยรดน้ำดูแลรักษาโดยมีคุณครูชั้น  ตะพานทองเป็นผู้ถ่ายทดวิชาทั้งรดน้ำ  ถางหญ้า  เก็บทุเรียน และขายของ  จากนั้นผมก็เริ่มขยายจากเมล็ดพันธุ์ซองเป็นกระป๋อง  ปลูกถั่วฝักยาว  มียายเป็นครูใหญ่  พ่อเป็นพี่เลี้ยง  แม่เป็นฝ่ายตลาด  ปลูกรุ่นแรก 1 กระป๋องได้กำไร 500 บาท  ดีใจมากครับ  ก็เพิ่มจากถั่วฝักยาวเป็นผักคะน้าด้วยเพื่อปลูกส่งร้านขายข้าวขาหมูแต่ได้รุ่นเดียวเท่านั้นครับ  รุ่นต่อมาหนอนกินหมด   ส่วนถั่วฝักยาวก็โดนเพลี้ยกิน  ฉีดยาก็หายได้แป๊บเดียวก็มาใหม่  สุดท้ายเจ๊งครับ  ทำให้ผมรู้สึกอยากเรียนเกษตร  ผมเลือกคณะเกษตร 4 อันดับ “
                                           

(credit photo : http://articles.elitefts.com/wp-content/uploads/2011/03/organic.jpg)
    “แต่ช่วงที่เกือบเสียสวนไปจริง คือ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2550 หนอนด้วงยาวเจาะลำต้นทุเรียนระบาด  ทุเรียนตายไปกว่า 70%  ผมก็พยายามหาข้อมูลสอบถามอาจารย์กีฏวิทยา แต่เนื่องจากรักษาช้าไป   ต้นทุเรียนสูงมากและคุณครูชั้นไม่ให้ใช้สารเคมี  แรงงานก็ไม่มี  จึงทำให้ทุเรียนตายไปมาก  แต่ยังไงก็ไม่ท้อครับ  หันมาปลูกกล้วยน้ำว้า  กล้วยหอมเพื่อรอเวลาทุเรียนโตบริเวณสวนหลังบ้าน....จากการที่อยากจะเป็นแบบอาจารย์หลายท่านที่ประสบความสำเร็จทางการเกษตร   พอเรียนเสร็จแล้วก็กลับไปปฏิบัติจริงแบบล้มลุกคลุกคลาน  ระหว่างที่เรียนปริญญาโทปีแรก  ผมกับหุ้นส่วนก็เปิดบริษัทหนึ่งในลักษณะส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์แล้วบริษัททำการบรรจุผลิตภัณฑ์และจำหน่ายให้ผู้ส่งออก  โมเดิร์นเทรดและร้านสุขภาพทั่วไปโดยไม่มีแปลงเป็นของตัวเอง  ก็เป็นช่วงที่ผมมีความสุขเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนมาได้ใช้ประโยชน์มาก  ช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง  ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น (แต่ปัจจุบันเลิกแล้วเพราะอุดมการณ์ของหุ้นส่วนเปลี่ยนไป).....  มาถึงวันนี้ สวนหลังบ้านบนเนื้อที่ 12 ไร่ที่จังหวัดนนทบุรี  กำลังจะพัฒนาเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนนนท์ และมังคุดสวนนนท์ตลอดจนเป็นแปลงรวบรวมและพัฒนาสายพันธุ์มะละกอในอนาคต(ซึ่งเป็นพืชที่ผมทำวิทยานิพนธ์ด้วย)  ในนาม “สวนของชั้น”   แต่อาชีพหนึ่งที่ผมหารายได้มาใช้พัฒนาสวน คือเป็นตัวแทนกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยบริหารจัดการในนาม “สลันดา ออแกนิคฟาร์ม” เป็นศูนย์รวบรวมอยู่ที่นครปฐม ซึ่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นเจ้าของแปลงและดำเนินงานตามรูปแบบเดิมของบริษัทเก่าที่ผมเคยทำ  แต่ที่สำคัญคือมีแปลงเป็นของตัวเอง  ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพ่อค้าคนกลางอย่างเดียว  แปลงนี้เหมือนสถานที่ทดลองวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์  และสามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงในการกำหนดราคาสินค้า  ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเกษตรกร  ผู้จัดจำหน่ายตลอดจนผู้บริโภค  สิ่งที่มีค่ามากคื ทีมงานบริหารสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นน้องจากคณะเกษตรที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน โดยหวังว่า ถ้ากลุ่มเราได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคและโตมากกว่านี้  เราจะมีทีมงานที่เป็นเด็กเกษตรทำงานกันอย่างมด เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน  คุณของครูอาจารย์ที่สั่งสอนเรามา  ที่สำคัญและภูมิใจคือ พวกเราเด็กเกษตรยังคอยดูแลกลุ่มเกษตรกรเดิม ร่วมกันขยายกลุ่มผู้ปลูกผักอินทรีย์ออกไป”



(credit photo : https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTdpvBv-WBW0YCjf6MznI9Ui9TB4diVrAvHhJq4msY-BoHWgnz7)
“ความฝันของผมคือ อยากให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากทำเป็นอาชีพแรก  หรือคณะแรกที่เด็กเลือก  โลกและเทคโนโลยีพัฒนาควบคู่กับการเกษตรได้  แต่คนที่จะเข้าใจถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริงและเข้าใจอาชีพนี้จริงจะต้องสัมผัสด้วยรูป รส กลิ่น เสียงและใจ  เมื่อเราเข้าใจดีแล้ว  ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เครือข่ายแบบแฟร์เทรดก็น่าจะเกิดได้ดีในสังคมไทย”


อีกกรณีตัวอย่างที่ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรีคือ “วิสาหกิจชุมชนสวรรค์สีเขียวหนองรี” หรือ GreenHeaven@NongRee  ซึ่งก่อเกิดจากความคิดริเริ่มของคุณอนุรักษ์ เรืองรอบ ปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจจาก AIT  และ คุณสมพร  ปัญญาเสถียรพงศ์  อดีตผู้สื่อข่าวและโปรดิวเซอร์ภาคสนามของสำนักข่าวระดับสากลมากว่า 15 ปี  ทั้งสองคนผันชีวิตมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวโดยคุณอนุรักษ์มาซื้อที่ดินจำนวน 70 ไร่ตั้งแต่ปี 2549 และเริ่มรวมกลุ่มชาวบ้านที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์โดยยึดแนวทางปฏิบัติเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  IFOAM   ทั้งนี้ คุณอนุรักษ์เป็นฝ่ายบริหารจัดการระบบการผลิต และประสานความร่วมมือของภาคีและมีคุณสมพรทำหน้าที่ด้านการตลาดกับประชาสัมพันธ์
คุณอนุรักษ์เล่าให้ฟังว่า “เมื่อแรกที่เข้ามาเริ่มต้นก็เริ่มชวนชาวบ้านให้มาร่วมคิดร่วมคุยกันเป็นเดือนว่าจะทำอะไรดี  แต่ชาวบ้านบอกว่าอยากทำอะไรที่ง่ายๆได้เงินเร็วๆ   ผมจึงต้องกลับไปนอนคิดนั่งคิด....เรามีที่ดิน  ก็ต้องทำเกษตรแต่จะปลูกอะไรดีให้ได้ตามโจทย์ที่ชาวบ้านตั้งไว้  ก็เลยพาชาวบ้านไปดูงานตามที่ต่างๆ   ครั้งแรกไปที่บ้านดงบังเพื่อชวนปลูกสมุนไพรทำยาทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรขาย  แต่ชาวบ้านบอกว่า นานถึง 18 เดือนกว่าจะได้เงิน  ระหว่างนั้นจะเอาอะไรกิน  เป็นเหตุให้ผมต้องกลับไปคิดใหม่อีกรอบ  คราวนี้ยกขบวนไปดูงานปลูกผักสลัดที่วังน้ำเขียว  ปรากฏว่าได้ผล  ชาวบ้านชอบใจเอาด้วย  ก็ลองประเมินความเป็นไปได้เรื่องสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของหนองรี   ที่ดินติดภูเขา  อากาศดีไม่แพ้วังน้ำเขียว  ถ้าเราลองปลูกผักสลัดบ้าง  ก็น่าจะเป็นไปได้เพราะผักสลัดดูแลง่าย  รายได้งาม   พวกเราก็ลงมือทำโดยชวนชาวบ้านราว 10 ครอบครัวมารวมกลุ่มกันตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนสวรรค์สีเขียวหนองรี”  เราตั้งชื่อนี้เพราะคิดว่า “สวรรค์เราสร้างเองได้  ไม่ต้องรอใครมาสร้างให้” และเมื่อเราปลูกผักปลูกพืช ก็ต้องเป็นสรรค์สีเขียว”
พื้นฐานอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านก็ปลูกผักเศรษฐกิจอยู่แล้ว  ซึ่งในอดีตมีการใช้สารเคมีต่างๆแต่ส่วนหนึ่งหยุดใช้มาหลายปี  จึงง่ายต่อการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบอินทรีย์  โดยปลูกผักสลัดหลายอย่าง คือ คอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัลและผักกาดแก้ว    นอกจากนี้ยังทดลองปลูกอย่างอื่น เช่น ร็อคเก็ต สปีแนช และผักเศรษฐกิจบางอย่าง เช่น ผักบุ้ง คะน้า มะเขือยาว พริกขี้หนูสวน ฝรั่งกลม  สาลี่ เป็นต้น  ชาวบ้านเริ่มชักชวนกันมาเข้ากลุ่มเพิ่มขึ้น  มีการพูดคุยกันเพื่อวางแผนการผลิตทุกสัปดาห์พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนปัญหาการผลิตด้วย  คุณอนุรักษ์และคุณสมพรหวังว่าเกษตรอินทรีย์จะส่งผลให้ชุมชนเห็นว่า อาชีพเกษตรกรมีศักดิ์ศรี   มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวและมีความสุขได้ด้วย  ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการชักชวนแรงงานจากอุตสาหกรรมให้กลับสู่ภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่คิดถึงแต่อาชีพในภาคอุตสาหกรรม
 การบริหารจัดการปัจจัยสนับสนุนการผลิตเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางสู่เกษตรอินทรีย์ ที่หนองรีโชคดีเรื่อง “ปุ๋ยอินทรีย์” เพราะกลุ่มมีทุนด้านโรงงานผลิตปุ๋ยจากวัตถุดิบ เช่น มูลเป็ด แกลบเผา ปลาป่นได้จากผู้ผลิตในท้องถิ่นทำให้ต้นทุนราคาถูกเพียงกิโลละ 2 บาทและเจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ก็เป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองรี  ทำให้การผลิตและจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้สมาชิกง่ายขึ้นทั้งยังนำไปสู่การเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย   ส่วนเมล็ดพันธุ์นั้น  กลุ่มสนับสนุนให้แก่สมาชิกทุกรายก่อน  เมื่อจำหน่ายผักได้ มีรายได้แล้วจึงค่อยทยอยใช้คืน  คุณอนุรักษ์พยายามจัดหาเมล็ดพันธุ์ผักสลัดแปลกใหม่มาให้สมาชิกทดลองปลูกอยู่เสมอเพื่อทดลองความต้องการบริโภคของตลาดไปด้วย  
ด้านชีวภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ทดแทนสารเคมีนั้น  กลุ่มผลิตใช้กันเองโดยได้ความรู้จากการไปศึกษาดูงานที่เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ อ.วังน้ำเขียว  และชมรมเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติวัดญาณสังวราราม  จ.ชลบุรี เช่น การทำสมุนไพรไล่แมลง น้ำหมักชีวภาพ และฮอร์โมนบำรุงต่างๆ  ผลิตไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย  โดยสมาชิกมารวมกันผลิตและเก็บรักษาไว้ที่พื้นที่ส่วนกลางของกลุ่มเพื่อให้สมาชิกได้ร่วมเรียนรู้และนำไปใช้ถูกวิธี   การแก้ปัญหาโรคแมลงและเทคนิคการผลิต ก็ค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตโดยคุณอนุรักษ์และคุณสมพร  รวมทั้งวิธีการทำให้ผักสด กรอบ และรสชาดดี  ทั้งนี้ ร่วมกันเรียนรู้สาเหตุและวิธีแก้ไขร่วมกันที่แปลงผักเลย  ทำให้สามารถแก้ปัญหได้รวดเร็วทันเวลาและเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่างๆมาให้คำปรึกษาอยู่เสมอ เช่น หมอดินจากปราจีนบุรี เป็นต้น  
กลุ่มเริ่มเปิดตัวจำหน่ายเมื่อต้นเดือนเมษายน ปี 2555  โดยวางจำหน่ายที่ตลาดสินค้าเกษตรหน้าศาลาว่าการอ.เมืองชลบุรี ทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละครั้ง   คุณสมพรกล่าวว่า “ตลาดที่นี่เรียกเราว่า “เจ้าผักแพ  เราก็ไม่คัดค้านเพราะผักที่เราขายมีราคาประกันให้สมาชิก  คนปลูกเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้ผักได้มาตรฐาน เราต้องให้ความรู้และข้อมูลกับผู้บริโภคให้เข้าใจชัดเจนถึงมาตรฐานการผลิต  ทำให้มีลูกค้าประจำมาอุดหนุน  ซึ่งเป็นเหมือนญาติพี่น้องกัน  มาคุยมาถามมาเยี่ยมเราที่สวน”
              ทางกลุ่มตั้งใจทำการตลาดที่เมืองชลบุรีและเมืองพัทยาก่อนเพราะเห็นว่า เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและกำลังการบริโภคมาก  รวมทั้งช่วยลดค่าการจัดการด้านขนส่งผักและเป็นการปลูกขายกันเองในท้องถิ่น   การตั้งราคาขายและรับซื้อจากเกษตรกรในกลุ่มใช้วิธีคิดร่วมกันและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของผู้ผลิต  ตลาด (รวมคนบริหารจัดการ) และผู้บริโภค เรียกว่า ระบบแฟร์เทรด (Fair Trade) โดยทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมดูแลและได้ประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงปลายทางการบริโภค  ต่อมากลุ่มได้พัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพดี  สม่ำเสมอจึงขยายตลาดไปสู่ระบบส่งตรงถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าผ่านเฟซบุ๊ค  (http://www.facebook.com/GreenHeavenNongree)


(credit photo : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQHOjBWXSW0wzer3ztxmJaWOadsxhkhBA1pQPJWW08WFXb0MpSH)

               “ผักกล่องบ้านนา” เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่กลุ่มชาวบ้านผู้ปลูกผักอินทรีย์ที่บ้านนา  ต.หัวไผ่  อ.เมืองอ่างทองได้เชื่อมความสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยดำเนินการร่วมกับโครงการคนไทยบริโภคผักไร้สารพิษด้วยกลไกการเชื่อมโยงเกษตรกร  ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆของเครือข่ายตลาดสีเขียวที่สนับสนุนเงินทุนโดย  สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)  การเรียนรู้ร่วมกันทั้งเกษตรกร  ผู้บริโภค ผู้ประกอบการอย่างร้านสวนเงินมีมาและร้านเฮลธ์มี  ยังทำอย่างต่อเนื่อง  ทุกเดือนจะมีกิจกรรม “โรงเรียนเกษตรกร” ให้มาเรียนรู้การผลิตเพื่อเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืน และพยายามหาวิธีการจัดการหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้ผักเก็บรักษาความสดได้นานขึ้น  ในขณะที่ผู้บริโภคก็ปรับตัวเรียนรู้วิธีบริโภคผักพื้นบ้านและทดลองทำอาหารตามเมนูที่เกษตรกรเขียนแนบมาให้ในกล่องผัก รวมทั้งช่วยสะท้อนมุมมองต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเกษตรกรและจุดรับส่งผัก
                   กิจกรรมการเก็บผักที่บ้านนาเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของทุกวันอาทิตย์  ชาวบ้านจะลงสวนเก็บผักจากสวนตัวเอง  ผักแต่ละชนิดมีช่วงเวลาเก็บแตกต่างกัน โดย ผักกินยอด เช่น ผักบุ้ง  ผักชะอม  ตำลึง เหมาะจะเก็บช่วงเช้าเพราะหากเก็บช่วงแดดจัด  ยอดผักจะดำ  แต่ผักใบอย่างคะน้า  กวางตุ้ง จะเก็บช่วงแดดร่มลมตก  หลังจากนั้นทุกคนจะนำผักที่เก็บได้มารวมกันไว้ที่บ้านป้าบุญมากเพื่อจัดการคัด ล้างและบรรจุกล่องก่อนนำส่งให้ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยผู้อาวุโสทั้งหลาย  นอกจากนั้นก็มีเด็กๆมาช่วยเป็นลูกมือและแรงเชียร์ด้วย  ในตอนเช้ามืดวันจันทร์  พี่อนันต์จะทำหน้าที่ขับรถนำผักจากบ้านนามากรุงเทพฯตั้งแต่ตีสามครึ่ง  แวะส่งพี่เกษพร้อมผักที่ตลาดนัดสีเขียว  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  แล้ววิ่งตรงมานำส่งผักที่ร้านเฮลธ์มี ซอยราษฎร์บูรณะ 30 และร้านสวนเงินมีมา ถนนเฟื่องนคร หลังกระทรวงมหาดไทย   ร้านทั้งสองแห่งนี้มีหน้าที่ช่วยรับผักและกระจายผักไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิกรับผักพร้อมทั้งช่วยเก็บเงินให้กับเกษตรกร รวมทั้งรับผักมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารจำหน่ายที่ร้านอีกด้วย   นอกจากนั้น ที่ร้านเฮลธ์มีซึ่งเป็นร้านอาหารมังสวิรัตยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกผัก ชื่อ Organic Way และมีบริการจัดส่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคทั้งนม ไข่ไก่ ขนมปังและผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่นเดียวกับร้านสวนเงินมีมา
           ในระยะแรก เกษตรกรยังไม่ชำนาญทำให้ผักเน่าเสียง่าย  ส่วนผู้บริโภคก็ไม่คุ้นเคยผักพื้นบ้าน  ไม่รู้ว่าจะทำกินอย่างไร  ทำให้บางรายทดลองรับผักได้พียง 2-3 ครั้งก็เลิกไป  แต่ผู้บริโภคหลายรายก็น่าชื่นชมที่ยังคงเป็นสมาชิกส่งแรงใจให้เกษตรกรและช่วยสะท้อนปัญหา  ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกษตรกรหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อไป    คุณเข็ม จริยา  หนึ่งในผู้รับผักกล่องบ้านนาเล่าให้ฟังว่า “สมาชิกที่บ้านต้องการบริโภคผักไร้สารพิษ  ในช่วงแรกที่รับผัก  มักพบผักเน่าเสียเนื่องจากเปียกน้ำจากน้ำแข็งที่แช่รวมมาในกล่อง  จึงบอกปัญหานี้ไปที่ร้านเฮลธ์มีซึ่งจัดส่งผักให้  ทางร้านก็บอกต่อไปยังเกษตรกรและหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน  ปัจจุบันการแพ็ค  การห่อผักโดยใช้ใบตองช่วยลดปัญหาผักเสียเร็วได้เยอะ  ทุกวันนี้เปิดกล่องมาก็รู้เลยว่า จะต้องทำอะไรกินดี ผักอะไรก็ทำกินได้ แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็หั่นผักเป็นชิ้นๆ ใส่กระเทียม ใส่พริก ตั้งไฟผัดๆก็กินได้เลย”    คุณปนัสยา บอกว่า ต้องการสนับสนุนเกษตรกรให้ทำเกษตรไร้สารพิษ  แม้ว่า การออกไปเลือกซื้อผักตามตลาดหรือร้านค้าจะสะดวกกว่าเพราะมีให้เลือกได้ตามชนิดและปริมาณที่ต้องการ   ผักหลายอย่างที่ทานไม่เป็น  ก็พยายามทำตามเมนูที่เกษตรกรแนบมาให้หรือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้ต่อไป
                       เรื่องราวต่างๆที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีของความหวังที่จะช่วยให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยการเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกร ผู้บริโภคและผู้ประกอบการตลาด เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันและดำรงอยู่ได้อย่างมีสุขภาวะท่ามกลางความสมดุลของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม......พบกับเรื่องดีๆที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกในฉบับหน้าครับ
                                                  ......................................................... 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คอลัมน์ เปิดโลกธุรกิจต่างประเทศ ตอน SWIFT

คุยเฟื่องเรื่องหลวงพ่อ การจัดสร้างพระพุทธเกษตร์รักษา โดย ท่านรองผู้จัดการอดุลย์ กาญจนวัฒน์

103 ปี ชาตกาล จ.ส.ตอน การช่วยเหลือสังคม (เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ)