ธนาคารแห่งปี 2559 Bank of the year 2016





     กองบรรณาธิการนิตยสาร “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ประกาศยกย่องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) : Bank for Agriculture and Agricultural Cooperatives (BAAC) ได้รับรางวัลเกียรติยศ ธนาคารแห่งปี 2559 หรือ Bank of the year 2016


     การได้รับรางวัลดังกล่าว ทำให้ ธ.ก.ส. ได้รับรางวัลธนาคารแห่งปีเป็นครั้งที่ 3 จากการได้รับรางวัลธนาคารแห่งปี 2555 เป็นครั้งแรก และได้รับรางวัลธนาคารแห่งปี 2558 ร่วมกับธนาคารออมสิน เป็นครั้งที่สอง


     ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินใจรางวัล ธนาคารแห่งปี 2559 ให้คะแนนเป็นเอกฉันท์ หลังจากพิจารณาว่าเป็นธนาคารที่มีเป้าหมาย “ให้มากกว่าสินเชื่อ” เพื่อเป็นการพัฒนาชนบทและเกษตรกร ซึ่งองคาพยพของธนาคารที่ประกอบด้วย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานและลูกจ้าง ได้ร่วมมือร่วมใจทำงานอย่างเข้มแข็งตามนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายทำให้มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการเกษตรและภาคชนบทของไทยให้ยืนหยัดและเติบโตต่อไปท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างเชื่องช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ทั้งยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงในปี 2559 ไม่ว่าภาวะภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ





     ด้วยปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ ธ.ก.ส. ที่เกษตรกรไทยกว่า 90 % เป็นลูกค้า กลายเป็นธนาคารที่มี “ภาระหนัก” ที่สุดในปี 2559 เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจไทย หากก่อนที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือหยุดยั้งการลุกลามด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการที่ธนาคารรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง และมาตรการสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะได้รับการชดเชยในภายหลัง ทำให้ผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ต้องรับผิดชอบทำงานกันอย่างหนักเพื่อกอบกู้ชีวิตของเกษตรกรที่กำลังยากลำบาก นอกเหนือจากงานที่ ธ.ก.ส. ต้องดำเนินการในธุรกิจปกติ

     ขณะที่นอกจากการทำงานสนองนโยบายภาครัฐ และดำเนินธุรกิจปกติในฐานะสถาบันการเงิน ธ.ก.ส. ยังดำเนินภารกิจตอบแทนสังคมและดูแลสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility :CSR) ภายใต้โครงการระยะยาวต่อเนื่อง และมีการติดตามดำเนินการเพื่อให้ทราบผลอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าการดำเนินการเพียงเพื่อ “สร้างภาพ” ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้ ธ.ก.ส. ได้รับคะแนนจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลไปอย่างมากมาย





ก้าวสู่บทบาทพัฒนาชนบท ยกระดับเกษตรกรด้วยตัวแบงก์



     สำหรับบทบาทสำคัญที่กลายเป็นผลงานให้ ธ.ก.ส. ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจครั้งนี้มีมากมายจนยากที่จะสาธยายได้หมด ดังนั้น ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างเพียงบางโครงการที่โดดเด่น ปรากฏต่อสาธารณะ และได้รับความสนใจจากสังคม

     โดยในส่วนแรก นอกจากการดำเนินการสนองนโยบายรัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านระบบ ธ.ก.ส. ธนาคารได้ดำเนินการตามบทบาทที่ได้รับการกำหนดใหม่ สำหรับการเป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นส่วนที่ธนาคารรับผิดชอบผลการดำเนินการเอง ไม่มีการชดเชยจากรัฐบาล เช่น ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs) เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ดีให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยดำเนินการโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร (SMAEs) วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท สนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวเป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรมีความสามารถในการจัดการธุรกิจด้วยตัวเองหรือรวมกลุ่ม อีกทั้งสนับสนุนนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในภาคชนบทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2559 ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ SMEs เกษตรแล้ว จำนวน 14,386 ราย เป็นเงินสินเชื่อ 39,319 ล้านบาท

     นอกจากนี้ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558/2559 วงเงินรวม 6 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ให้มีค่าใช้จ่ายไม่ต้องไปก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ธนาคารดำเนินการเอง ไม่ต้องรับการอุดหนุนจากรัฐบาล




ช่วยชาวนาครบทุกมิติ สลายชุมนุมราคาข้าวตกต่ำ


     ขณะที่ในส่วนของการดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาล หรือตามมิติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ธ.ก.ส. มีการดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว และโปร่งใส ผ่านระบบการบริหารจัดการที่ดี พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในการลงมือปฏิบัติตลอดจนมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้การปฏิบัติงานมีความสะดวก งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จเป็นผลงานที่น่ายกย่อง พิสูจน์ได้จากดำเนินการของธนาคารที่ไม่มีปัญหาการร้องเรียนเกิดขึ้นเลย และจากที่เกษตรกรออกมาชุมนุมประท้วงเรื่องราคาผลผลิตก็สลายไป ถือเป็นการสร้างผลงานที่ได้คะแนนมากที่สุด

     ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2559 เป็นปีที่ข้าวมีปัญหาราคาตกต่ำ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาผ่านระบบของ ธ.ก.ส. โดยโครงการต่างๆ ที่ธนาคารดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวการผลิต 2559/2560 แบ่งเป็น โครงการ เช่น

     1.แบ่งเบาภาระหนี้สินเกษตรกร ผ่านโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้กับ ธ.ก.ส. รายละไม่เกิน 5 แสนบาท ให้พักชำระหนี้ต้นเงิน 2 ปี และลดดอกเบี้ย 3 % ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 2 ล้านราย

     2.โครงการลดต้นทุนการผลิตผ่านโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.7 ล้านราย


     3.คุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 โดยดูแลความเสี่ยงในการผลิตจากภัยธรรมชาติ 7 ประเภท โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. ร่วมอุดหนุนเบี้ยประกันให้เกษตรกร ซึ่งมีเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าว 30 ล้านไร่

     ประเทศไทย 4.0 มุ่งลดต้นทุนการผลิต พัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานและแปรรูปเพิ่มมูลค่า ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร และการพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่

     มาตรการและโครงการมากมายขนาดนี้ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอันเป็นที่พึ่งของเกษตรกรลูกค้าและประชาชนได้อย่างแท้จริง ทำให้ ธ.ก.ส. ได้รับคะแนนส่วนนี้ไปอย่างท่วมท้น




ลงทะเบียนพร้อมเพย์ท่วมท้น ธ.พาณิชย์ขนาดใหญ่ต้องอาย



      นอกจากนี้ การตอบสนองนโยบายภาครัฐในอีกด้านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย คือ นโยบาย National e - payment ของรัฐบาลที่ออกมาเป็นโครงการระดับชาติ เรื่องระบบการชำระเงินแห่งชาติ “พร้อมเพย์ (Prompt Pay)” ซึ่งธนาคารทุกแห่งเปิดให้ลูกค้าประชาชนลงทะเบียนเพื่อใช้บริการระบบโอนเงินที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก


     ในการลงทะเบียนช่วงแรกก่อนที่ต่อมา ธปท.และสมาคมธนาคารไทยจะขอเลื่อนการเปิดให้บริการจาก 31 ตุลาคม 2559 เป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ปรากฏว่า การประสานงานอย่างยอดเยี่ยมของ ธ.ก.ส. กับลูกค้าทำให้มีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ของ ธ.ก.ส. สูงถึง 6.7 ล้านบัญชี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งอื่น ที่อุตส่าห์จัดรายการลุ้นรางวัลเพื่อเรียกให้ลูกค้าลงทะเบียน ซึ่งส่วนหนึ่งจะได้ฐานบัญชีเงินฝากลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นกลับมีลูกค้าลงทะเบียนเพียงธนาคารละ 1 - 1.5 ล้านบัญชีเท่านั้น เรียกได้ว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในตัวตั้งต้นของระบบพร้อมเพย์เสียรังวัดให้กับ ธ.ก.ส. ไปไม่น้อย


ตอบแทนสังคมอบอุ่นดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน



      สำหรับกิจกรรมตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญด้านหนึ่งของการให้คะแนน ธ.ก.ส.ได้จัดทำเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่องกันหลายปี โดยมีการดำเนินการในปีก่อนหน้านี้แล้วและยังดำเนินการอยู่


     อย่างไรก็ดี จากการที่ ธ.ก.ส. เปิดดำเนินการครบรอบ 5 ทศวรรษ หรือ 50 ปี ในปี 2559 ธนาคารได้รวบรวมกิจกรรมตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นมานำเสนอ เพื่อให้ผู้คนได้ประจักษ์ได้ง่ายขึ้น และเพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อภาคเกษตรกรรมของไทย และได้ทรงพระราชทานการก่อตั้ง ธ.ก.ส. เมื่อปี 2509 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนนอกระบบและนำไปสู่การสร้างโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่เกษตรกรและคนในชนบท โดยธนาคารจัดงานนิทรรศการ “ใต้ร่มพระบารมี 50 ปี ธ.ก.ส.” ขึ้นที่บริเวณโถงชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่บางเขน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน อันนำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปมีรวมทั้งหมด 19 โครงการ จำแนกเป็น


     1.การสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. โครงการบัญชีครัวเรือน และการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ และโครงการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์การเกษตร


     2.การส่งเสริมการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ โครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โครงการโรงเรียนธนาคาร และนำไปสู่การเสริมสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จำนวน 9 โครงการ ได้แก่ การพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ไปสู่สถาบันการเงินชุมชนและเครือข่ายการเงินชุมชน (Banking Agent) โครงการ ธ.ก.ส. นำเที่ยวทั่วไทยตามรอยเท้าพ่อ โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. โครงการสนับสนุนการรวบรวม แปรรูป เก็บรักษา และพัฒนาคุณภาพผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ผ่านสถาบันเกษตรกรและเครือข่าย (Value Chain) โครงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวเปลือกหอมมะลิ “ข้าว A - Rice") โครงการตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMAEs ใหม่ (Emerging SMAEs)




     โครงการต่างๆ ที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการ เพียงชื่อโครงการก็สามารถบอกได้ถึงรายละเอียดการลงมือปฏิบัติแล้วว่าธนาคารแห่งนี้มุ่งตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ธนาคารยึดถือตามแนวทาง “การให้มากกว่าสินเชื่อ”

     การดำเนินการช่วยเหลือภาคประชาชน ที่ส่งผลต่อการค้ำจุนเศรษฐกิจไทย และยังดำเนินการประสบความสำเร็จในทุกด้าน รวมทั้งการไม่ลืมตอบแทนสังคมซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ตลอดจนคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ทุกคน ส่งผลให้ ธ.ก.ส. มีคุณสมบัติครบถ้วน สมควรแก่การยกย่องให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ ธนาคารแห่งปี 2559 หรือ Bank of the year 2016 อย่างที่สุดแล้ว

     เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2559 (SOE Award 2016) และได้มอบรางวัลอันทรงเกียรติให้กับ ธ.ก.ส. ถึง 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลการเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใสดีเด่น รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น และรางวัลประชารัฐวิสาหกิจดีเด่น ซึ่งรางวัลทั้งหมดน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึง “คุณค่า” ของ ธ.ก.ส.

     ... สถาบันการเงินที่ยืนหยัดอยู่คู่เกษตรกรไทยมาแล้ว 50 ปี และจะยังยืนหยัดเพื่อการพัฒนาชนบทและเกษตรกรไทยไปอีกนานแสนนาน ...



บทความจากนิตยสาร ดอกเบี้ยธุรกิจ
ฉบับที่ 428 ปีที่ 36



















* * * 
























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คอลัมน์ เปิดโลกธุรกิจต่างประเทศ ตอน SWIFT

คุยเฟื่องเรื่องหลวงพ่อ การจัดสร้างพระพุทธเกษตร์รักษา โดย ท่านรองผู้จัดการอดุลย์ กาญจนวัฒน์

103 ปี ชาตกาล จ.ส.ตอน การช่วยเหลือสังคม (เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ)