“อยู่กับแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุข และยั่งยืน”


ข้อคิดการทำงานด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ
โดย ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

บุษบาบัณ เรื่อง วรุตม์ ภาพ


       
         
          ช่วงนี้หลายๆคน ก็คงจะรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ชาวนาไม่มีน้ำจะทำนา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ฟังแล้วก็หดหู่ใจ เป็นเกษตรกรช่างมีชีวิตที่เหนื่อยยากลำบากเสียเหลือเกิน จนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนี้ในอนาคตวันข้างหน้า อาชีพเกษตรกรจะยังมีอยู่หรือไม่ ในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็มักจะสอนลูกหลานให้เรียนสูงๆ ทำงานดีๆ มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่หันหลังทิ้งนาไร่ไว้กับพ่อแม่ ปล่อยให้ความชราของคนรุ่นพ่อแม่ค่อยๆ ลบเลือนคำว่าอาชีพเกษตรกรอย่างช้าๆ  ตัวผู้เขียนเองทุกครั้งที่ออกพื้นที่ทำงานต่างจังหวัด ก็นานๆครั้งที่จะได้พบเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่ และทุกครั้งที่ได้พบ ก็ทั้งแปลกใจ และทั้งรู้สึกดีใจ ที่อย่างน้อยยังมีคนรุ่นใหม่ที่ยังรักและเห็นคุณค่าในอาชีพเกษตรกร ไม่กลัวความยากลำบาก ออกจากงานประจำมาลงมือทำการเกษตรต่อจากพ่อแม่ ซึ่งเขาเหล่านั้นแน่นอนว่าไม่ได้กลับมาทำการเกษตรแบบมือเปล่า พวกเขานำความรู้ ไอเดีย ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่กลับมาสร้างชีวิตให้ผืนแผ่นดินของพ่อแม่ได้อย่างน่าทึ่ง 

          และเป็นที่น่ายินดีที่มีหน่วยงานที่เห็นความสำคัญในอาชีพเกษตรกรและได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ได้สร้างสรรค์กิจกรรมดีดีขึ้นมาเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่รักในอาชีพเกษตรกร ชื่อว่า “โครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไป เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ได้จัดงานมอบวุฒิปัญญาบัตรแก่คนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านการเกษตร  ในโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งเป็นโครงการที่ ธ.ก.ส. ร่วมกับ มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค สถาบันพัฒนาการเกษตรและชนบทจำเนียร สาระนาค และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดขึ้น  ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว



           โครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมให้ความรู้ และสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าอบรมด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตัวเองโดยมีผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชาวบ้านคอยให้คำแนะนำ และทายาทฯจะมีโอกาสได้ศึกษาดูงานการเกษตรในรูปแบบที่หลากหลายในภูมิภาคต่างๆ  
          โดยทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมจะต้องลงมือทำการเกษตรจริงในแผ่นดินของตนเอง และนำประสบการณ์จากการลงแปลงจริงมาแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกในภูมิภาคของตนเองผ่านหลักสูตรการอบรมโดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชคอยให้คำแนะนำ  ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการทายาทเกษตรกรทั้ง 30 คนก็ได้มาร่วมกิจกรรมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานในวันปิดโครงการที่ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่บางเขน  ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เป็นผู้มอบวุฒิปัญญาบัตร แก่ทายาทเกษตรกรทั้ง 30 คน  และยังได้ให้แนวทางการทำงานด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ แก่ทายาทเกษตรกรมืออาชีพรุ่นที่ 2 ซึ่งมีเนื้อหาและข้อคิดที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแนวทางการทำการเกษตร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกหลานในวันข้างหน้า 



เกษตรกร อาชีพที่มีเกียรติ 

          ท่านดร.สุเมธ ได้กล่าวถึงทายาทเกษตรกรมืออาชีพว่า เป็นกลุ่มลูกหลานเกษตรกรที่น่าอิจฉา เพราะมีลูกหลานเกษตรกรอีกมากมายที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรม ขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมตั้งใจทำการเกษตรดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ของชาติ ขอให้น้องๆ อย่าละทิ้งแผ่นดิน ประการแรกสุดขอให้มีใจกับแผ่นดินก่อน  ดร.สุเมธเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเสมอว่า  ต้องรู้รักก่อน  คือต้องมีความรักความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง  ว่านอกจากเราเลี้ยงดูตัวเองแล้ว เราเลี้ยงดูคนอื่นด้วย  เขาจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็กินข้าวเรา เกษตรกรเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจ เป็นผู้เลี้ยงดูเพื่อนร่วมประเทศ และแถมเหลือไปเลี้ยงชาวโลกด้วย เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครพูดถึง และท่าน ดร.สุเมธ ก็ได้ถ่ายทอดข้อคิดข้อปฏิบัติบางประการ ซึ่งได้เรียนรู้มาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านเน้นย้ำว่าจะพยายามถ่ายทอดให้ครบเท่าที่ความจำจะมี   


         “ผมบอกทุกคนจะยากดีมีจนก่อนกินข้าวมองข้าวซะก่อน มองในจานทุกวันมันมาจากไหน มาจากใคร  ถ้าไม่มีเขาเราอยู่ได้ไหม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเลย ประโยคซึ่งหลายท่านต้องรู้จัก  ถ้าชนบทอยู่ได้เราก็อยู่ได้ เรานี่คือคนกรุง ถ้าชนบทอยู่ไม่ได้คนกรุงก็ตายหมด  อาชีพเกษตรนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของความพอเพียง  เมื่อคุณรักเกษตรคุณเกิดจิตใจที่ภาคภูมิใจแล้ว  คุณย่อมผ่านไปโลกของความจริง โลกของความจริงคือเกษตรไม่ใช่งานง่าย  คุณต้องสู้  คุณต้องขยัน เมื่อครู่ผมมอบวุฒิบัตรของท่าน สายตาผมจับจ้องอยู่ที่ไหนรู้ไหม  ผมดูมือแต่ละท่านที่มารับวุฒิบัตรเมื่อกี้นี้  ตาผมจับจ้องไปที่มือผู้ที่มารับวุฒิบัตร มือเกษตรจริงๆ  ใช้ได้  เป็นมือที่ ทำ ธรรมะ คือทำ  มันต้องลงมือทำประการที่หนึ่ง”

      


         “ประการหลักสำคัญดินน้ำลมไฟต้องให้ความเคารพ คนโบราณเขาเห็น ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเทพหมด พระพาย พระเพลิง เจ้าแม่ธรณี เจ้าแม่โพสพ ต้นไม้ทุกต้นมีรุกขเทวดาหมด เขาอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพนับถือ แต่คนยุคนี้สมัยนี้นอกจากไม่มีความเคารพแล้วยังมักง่ายที่จะดูทุกสิ่งเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นเงินหมด  ดูต้นไม้ก็ไม่ได้เห็นรุกขเทวดาหรอก แต่ในใจถามว่าลูกบาศก์เมตรละเท่าไหร่ ไม้บางอย่างเขาไม้ได้ขายเป็นลูกบาศก์เมตรขายเป็นกิโล ปรากฏว่าต้นแค่ข้อมือก็ไปแล้ว เวทนารุกขเทวดามาก แพคกระเป๋าเกือบไม่ทัน เพราะว่าเลื่อยไฟฟ้ามันมาเร็วมาก  จากต้นไม้ต้นนึงคิดว่าจะไปอาศัยต้นอื่น เทพอื่นเขาจับจองแล้ว ฉะนั้นเกิดมาเป็นเทพยุคนี้อาภัพเหลือเกิน  ปฏิญญาค่านิยมมนุษย์เปลี่ยนไปหมด เป็นไปหมดทุกที่ ไม่ใช่แค่ประเทศของเรา”




เดินทางสายกลาง 

       “ประการที่สองมันไม่มีความแน่นอน ชีวิตของท่านตั้งอยู่ในความไม่แน่นอน ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่เป็นสิ่งที่เราเดาใจเทวดาท่านไม่ได้ ท่านจะมาเมื่อไหร่ ท่านจะมามาก มาน้อย อะไรต่างๆ ไม่มีความแน่นอน

        ประการที่สามนั้นต้องพอดี ยึดเส้นทางสายกลางตลอด  ถ้าน้ำดี คนผลิตกันได้ เกษตรดีไหม เจ๊ง ราคาตกของล้นตลาด แห้งแล้งธุรกันดาร ปีนั้นทำเกษตรไม่ได้เลย ก็เจ๊งเหมือนกัน   ดีสุดกู่ก็เจ๋ง แย่สุดกู่ก็เจ๊ง รักษาความพอดีตรงกลางยังไง น้ำต้องพยายามทำยังไงให้พอดี เพราะฉะนั้นต้องบริหารพืชผลให้อยู่ในตลาดในเวลาที่พอดีอย่างไรเพื่อรักษาราคาไว้  อย่าโลภ   ยางพารา ปลูกกันทั่วประเทศแล้วยังไง พอมากขึ้นราคาตกเราเรียนกันมาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ต้องรักษาปริมาณให้พอดี  ยามหน้าแล้งมะนาวก็โดดไปราคาลูกละ
10 กว่าบาท ก็เคยซื้อ ทำไงให้มันเหลือสักสี่บาทแต่ว่าทั้งปี  ต้องบริหารจัดการทรัพยากรด้วย”
          “น้ำที่เราบ่นโวยวายกันว่าแล้ง เดี๋ยวขาด เพราะอะไร  ก็เพราะเราไม่เก็บกัน  อย่าบอกว่าไม่มีเก็บ ปริมาณน้ำฝนผมยังยืนยันว่ามีเพียงพอ  ฝนเข้ามาปีละ 3 เดือน แต่เราต้องเกลี่ยให้ใช้ปีละ 9 เดือน เปรียบเทียบง่ายๆ ฝน น้ำ มันมาเหมือนเงินเดือน เดือนนึงจ่ายหนนึง ถ้าใครรับราชการ  จ่ายเดือนละหนเดียวแต่ต้องกินอีก 29 วัน มันก็ต้องเกลี่ยเอาไปฝาก ไม่ใช่เอาไปกินวันเดียวหมด ที่เหลือจะกินอะไร  เหมือนกันการบริหารน้ำ  พระองค์ท่านถึงแนะนำให้สร้าง อ่างเก็บน้ำ  แก้มลิง ทำภาชนะทุกอย่าง ให้เก็บน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเหนือสิ่งใดเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราต้องการใช้น้ำเท่าไหร่  โครงการพระราชดำริแต่ละแห่งเขาก็เริ่มอย่างนี้ เขาต้องการใช้น้ำเท่าไหร่เขาก็ตรวจสภาพดินแต่ละแห่ง ใช้ภาชนะกักเก็บเท่าไหร่ ถ้ามันไม่พอก็เติม เติมจน  “พอ”   คราวนี้เข้าใจคำว่าพอเพียงรึยัง”





         “คิดง่ายๆ ต้องมีน้ำให้พอเพียง อย่ามัวแต่ไปนึกเรื่องสตางค์พอเพียง  หิวเท่าไหร่เอาสตางค์มากัดมันก็คงไม่อิ่ม  ต้องมีน้ำให้พอในแปลง  และรู้ว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง บางแห่งไม่ได้ปลูกข้าวก็ไม่ต้องใช้น้ำมากมายอะไร แต่บางแห่งปลูกข้าว ต้องคำนวณให้ดี  เพราะข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะกว่าพืชอื่น
10 เท่า คุณบริหารไปดินน้ำลมไฟให้พอดีครบในแปลงของตัวเอง”  

            “พอควบคุมดินน้ำลมไฟได้แล้วคือมีพอเพียง คุณก็จะต้องตัดสินใจเรื่องนึงคือ คุณจะปลูกอะไร คุณจะเลี้ยงอะไร อย่าปลูกเพียงหนึ่งอย่าง เมื่อชีวิตคุณแขวนกับอะไรหนึ่งอย่าง มันแน่นอนที่สุดเป็นธรรมมะ  ความเสี่ยงมัน 100 % หมายความว่าถ้าสิ่งนั้นพังคุณพังด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอย่าเอาชีวิตไปแขวนไว้กับสิ่งเดียว ทำหลายๆ อย่าง 

เศรษฐกิจพอเพียงสามขั้น

             แม้กระทั่งพืชก็ดูว่าพื้นที่เราสภาพแวดล้อมของเรามันควรจะปลูกอะไร  และดูไปด้วยว่าเรากินไหม ไม่ต้องไปดูคนอื่นดูตัวเราเรากินรึเปล่า พระพุทธเจ้าสอนว่าประโยชน์ใกล้ตัวคือประโยชน์ที่แท้จริง เรากับครอบครัวกินอะไรก่อน ข้าวใช่ไหม ผักหญ้าทั่วไปใช่ไหม อาจจะโปรตีนคือปลาใช่ไหม  ท่านถึงออกมาเป็นทฤษฎีใหม่ท่านสอนวิธีจัดการฟาร์ม แบ่งเป็น 30 30 30 10 และวิธีการแบ่ง พระองค์ท่านก็รับสั่งสอนว่ามันก็สอดคล้องกับความต้องการของชีวิตเรา เราต้องการน้ำเพราะฝนฟ้าไม่ได้มาตามอำเภอใจ ก็เก็บมันไว้เข้าธนาคารไว้  ไม่ต้องการไม่ต้องไปยุ่งแต่ถ้าต้องการเบิกได้เลย  พอเห็นน้ำก็เห็นปลา  รอบๆ สระก็ปลูกไอ้ของที่กินได้ทั้งหมด ข้าว  คนไทยหนีข้าวไม่พ้นอีก  30 %  ปลูกข้าว อีก 30 %  ปลูกพืชนานาชนิดที่เราบริโภค อีก 10 % สร้างบ้าน  ถ้าคุณทำสำเร็จตามที่พระองค์ท่านแนะนำ เหมือนมีเซเว่นอยู่ในบ้าน เดินลงไปช้อปไม่ต้องพกตังไป  เห็นมาหลายรายกินยังไงก็ไม่หมด ไม่หมดคราวนี้ก็ขาย  ขายไปได้เงินมา ตอนนี้พอมีพอกินอยู่แล้ว  เสร็จแล้วขายที่เหลือก็คือกำไร  พระองค์ท่านวางไว้สามขั้นตอน แต่ทุกคนพยายามพูดอยู่ขั้นตอนเดียว วางไว้ถึงสามระดับ ไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงคือให้รวย ขอทำความเข้าใจนะเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ให้จนนะ”



           “พอการันตีชีวิตครอบครัวได้แล้ว ตอนนี้เริ่มมีกำไร  เขยิบทำไปอีกขั้น ถ้าในบริเวณนั้นทำหลายๆ รายก็รวมหัวกัน  หลายๆหัวช่วยกันคิดมันมีทางออก รวมกลุ่มกัน  ไม่ต้องหาบของไปตลาดทั้งสิบราย ทุกคนมาฝากทำบัญชีไว้   สหกรณ์เบื้องต้นมันก็เริ่มเกิดแล้ว พอขั้นนี้เสร็จไปขั้นที่สอง

          ขั้นที่ 2 พระองค์ท่านบอกอย่าหยุดนะ พออยู่ตัวแล้วไปท่านบอกไป ขั้นที่ 3 ตอนนี้พัฒนาตัวเองเป็น  entrepreneur ship คราวนี้ถึงขั้นลงทุน  ธ.ก.ส.เตรียมเปิดบัญชีไว้  เพราะเป็นแล้ว  ท่านไม่ต้องการเห็นคนที่ยังไม่เป็น พอเห็นเงินแล้วตาโตแล้วไปกู้เงินมาทำ เจ๊งทุกราย นี่มันเป็นขั้นตอนจนกระทั่งชำนาญแล้ว รู้ทางหนีทีไล่คราวนี้กู้ด้วยความมั่นใจแล้ว และอย่างน้อยอะไรเกิดขึ้นตัวเองไม่อดตาย”

        “การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร พอดีผมรับผิดชอบเรื่องข้าวที่มูลนิธิข้าวไทย ผมก็จัดประกวดนวัตกรรมข้าว บางชิ้นมันเพิ่มมูลค่าข้าวได้พันเท่า หมดยุคสมัยที่จะเอาพืชพันธุ์ธัญญาหารไปขายใส่กระสอบไปขายเป็นวัตถุดิบ มันต้องเอาปัญญาใส่ เมื่อวัตถุดิบบวกปัญญา มันจะกระโดดไปอีกราคา ข้าวสี่สิบกรัมบวกกับปัญญา เดี๋ยวนี้ต้องเข้าคิวซื้อ  ข้าวสี่สิบกรัม  1250 บาท ทำอะไรรู้ไหม แป้งพัฟผัดหน้าจากข้าวหอมมะลิ   พอมาเรื่องการตลาดคนไทยไม่ค่อยนิยมของตัวเอง พอทำเสร็จไปบรรจุหีบห่อที่ญี่ปุ่น ยี่ห้อ โอริสซี่ ผมไม่ได้ค่าโฆษณา แต่เป็นกรรมการตัดสิน ให้เขาได้รับรางวัล  ตอนแรกคนไทยไม่มีโอกาสได้ใช้ ญี่ปุ่นรู้กวาดซื้อหมดเพราะเป็นของธรรมชาติ  ตอนนี้วางขายที่เซนทรัลแล้ว การผลิตเริ่มมีกำลังแล้ว เริ่มพัฒนาไปถึงขั้นอุตสาหกรรมแล้ว”

          พอเข้าสู่ขั้นที่
3 เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว อยากให้ชุมชนนั้นเป็นเจ้าของทุกอย่าง มียุ้งฉางของตัวเองได้ไหม มีการแปรรูปเองได้ไหม  มียุ้งฉางของตัวเอง มีการตลาดเอง มีโรงสีของตัวเองได้ไหม มี packaging ของตัวเองได้ไหม มีตลาดของตัวเองได้ไหม”
         “ทุกขั้นตอนพระองค์ท่านก็สอนให้ติดกับธรรมชาตินี่แหละ เรียนรู้ภูมิสังคม เข้าใจ ดินน้ำลมไฟ บริหารดินน้ำลมไฟ เขามีให้เราเหลือเฟือแต่ขอให้เราเก็บเรากักเราถนอม เรารักษาไว้ ไม่มีที่เก็บก็ต้องสร้างที่เก็บ อย่าโลภ เวลาจะทำอะไรต่างๆ ให้ใช้หลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสอนไว้  พอโลภปั๊บเราจะฝืนธรรมชาติเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอกให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ 

          ยางพารานี่เห็นชัดเจน แต่เดิม มันก็อยู่ในป่า แต่เราโลภ อยากได้เยอะๆ ก็ถางป่าเกลี้ยงเลย แล้วก็เอายางมาปลูกเป็นแถวๆ จากป่ายางมาเป็นสวนยาง แล้วพอทุกคนทำอย่างนั้นหมด ผลสุดท้ายก็เจ๊ง เพราะจากร้อยกว่าบาทมันลงเหลือสามสิบบาท”

          “ ผมไปบ้านทับคริสต์ในนามของอุทกพัฒน์ คือไปยุให้เขาบริหารเรื่องน้ำ เขาบริหารได้แล้ว ผมก็เยาะเย้ยเขาเป็นไงเตือนมาสิบปีแล้วเรื่องยาง เจ๊งเมื่อไหร่ก็ซดน้ำยางไปเถอะมันจะอิ่มไหมดูซิ  เขาบอกไม่อาจารย์เดี๋ยวนี้ไม่ทำสวนยางแล้ว ทำป่ายาง นี่เขาเรียกว่า back to basic กลับไปสู่ธรรมชาติตามเดิม ไม่ต้องไปตัดต้นยาง เขาก็แทรก เงาะเข้าไป ทุเรียนเข้าไป ปลูกไม้ดอก ระหว่างร่องยางก็ไปขอทางปาล์มเขามากองเรียงสแลนคลุมน้ำราดให้เน่าเปื่อย พอเน่าเปื่อยเอาเห็ดโรย ท่านครับ เงินเดือนปีนึงได้ตลอดทั้งปี ยางก็มีฤดูกาลปีนึงทำหนเดียว 30-40 บาท ที่กรีดยางกลายเป็นของแถมไม่สนใจ นี่คือวิธีคิด คิดว่ายางเป็นแค่ของแถมอย่าไปสนใจ  แต่ไม้ผลเก็บได้ทุกวัน  ผมถามเขาว่า  ถามจริงๆ ตอนทำสวนยางอย่างเดียวกับตอนนี้ได้เดือนนึงอาจจะไม่เท่าครั้งเดียวของยางแต่ได้เรื่อยๆ  อันไหนดีกว่า เขาบอกบวกแล้วตอนนี้รายได้เท่ากับสามเท่าของยางพาราตอนนั้น   เขาบอกรู้งี้ผมอยู่ป่าตามเดิมดีกว่า ไม่โลภมากทำเป็นสวน นี่เห็นกับตาเลย”




        ไหนๆ เล่าแล้วเล่าเรื่องน้ำต่อ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาเอาฎีกามายัดใส่มือผม ผมก็ดำเนินการจนพระองค์ท่านพระราชทานเขื่อนให้  เขื่อนเล็กๆ ความจุสองล้านลูกบาศก์เมตร  ก็ยังบ่นมาว่า  ไม่พอใช้ เพราะอะไร เพราะใช้เขื่อนเหมือนกันหมดทั่วประเทศไทย พอหมดหน้าฝนก็เปิดโครมๆๆ  จะทำเกษตรไม่ทำเกษตรก็ปล่อยน้ำ ที่ไหนมันจะพอใช้ ผมบอกเอาใหม่ ผมไม่ขยายเขื่อนแล้ว ทุกแปลงขุดสระได้ไหมและต่างฝ่ายขุดคลองส่งถึงกัน จากเขื่อนผมขุดให้ แต่จากแปลงนี้ไปแปลงโน้นขุดให้มันเชื่อมกัน  ต่อกันทั้งบริเวณ อะไรเกิดขึ้นครับ หน้าฝนปิดเขื่อนเลย เพราะหน้าฝนไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในเขื่อนเลย  เนี่ยบริหารง่ายๆ  ปิดเขื่อน พอสิ้นสุดฤดูฝน  น้ำเต็มเขื่อน 2 ล้านลูกบาศก์เมตรเต็มเปี่ยม และในสระทุกคนเต็มด้วย ใช้ไปได้นาน  เก้าเดือนที่เหลือ เอาบัญชีออมทรัพย์ใช้ไปก่อน  บัญชีฝากประจำอย่าพึ่งไปแตะ 2 ล้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเก็บไว้  เอาในสระแต่ละคนเอาออกมาใช้ พอใช้ไปเริ่มกลางหน้าแล้งน้ำในสระแห้ง ก็เปิดเขื่อนไปเติมสระ พอสระเต็มปั๊บปิด เหมือนรองปี๊บน้ำก๊อกเต็มปี๊บก็ปิด หมดเมื่อไหร่ก็เอามาเติม  ไม่ได้ส่งพรวด เอามาเติมไว้ ตอนนี้เป็นไง ยิ้มแป้น พอใจเหลือเฟือ หมดสิ้นฤดูกาลฝนหน้ามาน้ำยังเหลือครึ่งอ่าง เพราะน้ำทุกหยดถูกใช้ประโยชน์”

อยู่กับแผ่นดิน


          “เวลานี้เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในโลก พลังงานเมื่อก่อนเป็นเรื่องสำคัญ  บัดนี้นักวิชาการทั่วโลกบอกไม่ใช่เรื่องพลังงานที่จะเกิดวิกฤต  เพราะไม่มีพลังงานจะให้เกิดสงครามกันอีกแล้ว ต่อไปนี้จะเกิดสงครามแย่งน้ำ นัยยะของสงครามแย่งน้ำคือสงครามแย่งอาหาร อาหารการกินถ้าจะยังชีพอยู่ได้ มนุษย์จะต้องมีปริมาณเท่ากับทรัพยากร ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ในโลกใบนี้

         ท่านรู้ไหม ปีที่จำนวนมนุษย์กับจำนวนทรัพยากรสมดุลกันคือปีอะไร  ปี พ.ศ. 2518 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นจำนวนคนมันมากกว่าของแล้วครับ  ระยะเวลาที่ผ่านมามันลดไป 30 % ปีนี้ 7,400 ล้านคนนั่งกินโลกอยู่ ใช้โลกอย่างฟุ่มเฟือย  ยูเอ็นประกาศเมื่อสองวันนี้อีกสามสิบปีข้างหน้า  ปี 2593 จะกระโดดไป 9000 ล้านคน  ทรัพยากรดินน้ำลมไฟคืออาหารมีเท่าเดิม เราอยู่ได้หรือครับ


          แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ สิ่งที่อยากให้ลูกหลานได้หวงแหน บ้านเรานี่อุดมสมบูรณ์เหลือเกิน นี่ขนาดนั่งทำลายกันทุกวัน นั่งเผากันทุกวัน มาเป็นเวลากี่สิบปีก็ไม่รู้ ก็ยังมีให้เผาให้ทำลายอยู่อย่างนั้น บ้านเราอุดมสมบูรณ์อย่างมหาศาลโครงสร้างทรัพยากรธรรมชาติแข็งแกร่งที่สุด แต่จะปล่อยแบบนี้เรื่อยๆ ไม่ได้เพราะคนมากขึ้นทุกที  สมัยเด็กๆ ผมท่องจำ ประชากรไทยมี 18 ล้านคน  นี่ผมยังไม่ตายเลยอายุแค่ 77 กระโดดเข้าไป  65 ล้านคน 68 ล้านคน กระโดดไปกี่เท่าในชั่วชีวิตคนหนึ่งคน"

          "เพราะฉะนั้นอยู่กับแผ่นดินเถอะครับอย่างน้อยมันมีคำว่ามีกิน

           อยู่กับแผ่นดินเถอะครับอย่างน้อยเราได้มีโอกาสเลี้ยงดูคนอื่นเขา 
            อยู่กับแผ่นดินเถอะครับท่านจะพบคำที่พระเจ้าอยู่หัวฝากเอาไว้คือประโยชน์สุข 
            มีประโยชน์และมีความสุขด้วย" 

       

                                                                        # # # 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คอลัมน์ เปิดโลกธุรกิจต่างประเทศ ตอน SWIFT

คุยเฟื่องเรื่องหลวงพ่อ การจัดสร้างพระพุทธเกษตร์รักษา โดย ท่านรองผู้จัดการอดุลย์ กาญจนวัฒน์

103 ปี ชาตกาล จ.ส.ตอน การช่วยเหลือสังคม (เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ)